เมนู

บัดนี้ เมื่อที่จงกรมสำเร็จแล้ว เพื่อแสดงความเป็นไปของพระผู้มี-
พระภาคเจ้า ณ ที่จงกรมนั้น ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาว่า
พระชินสัมพุทธเจ้าจอมปราชญ์ ผู้ทรงพระมหา-
ปุริสลักษณะ 32 ประการ เมื่อทรงรุ่งโรจน์ ณ ที่
จงกรมนั้น ก็เสด็จจงกรม ณ ที่จงกรม.
เทวดาทั้งหมดมาประชุมกัน พากันโปรยดอก
มณฑารพ ดอกปทุม ดอกปาริฉัตตกะ อันเป็นของ
ทิพย์ลงเหนือที่จงกรม.
หมู่เทพในหมื่นโลกธาตุ ก็บันเทิง พากันชม
พระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ต่างยินดีร่าเริงบันเทิงใจ
พากันมาชุมนุมนมัสการ.


แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธีโร ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยธิติปัญญา.
บทว่า ทฺวตฺตึสวรลกฺขโณ ความว่า ผู้ทรงประกอบด้วยพระมหาปุริสลักษณะ
32 ประการ มีฝ่าพระบาทตั้งลงด้วยดี. บทว่า ทิพฺพํ ได้แก่ ดอกไม้ที่เกิดใน
เทวโลก ชื่อว่าของทิพย์. บทว่า ปาริฉัตตกะ ความว่า ต้นปาริฉัตตกะที่น่าชม
อย่างยิ่ง ขนาดร้อยโยชน์โดยรอบ บังเกิดเพราะผลบุญแห่งการถวายต้นทองหลาง
ของทวยเทพชั้นดาวดึงส์. เมื่อปาริฉัตตกะต้นใดออกดอกบานแล้ว ทั่วทั้งเทพ-
นครจะอบอวลด้วยกลิ่นหอมเป็นอย่างเดียวกัน. วิมานทองใหม่ทั้งหลาย ที่
กลาดเกลื่อนด้วยละอองดอกของปาริฉัตตกะต้นนั้น จะปรากฏเป็นสีแดงเรื่อ ๆ.
และดอกของต้นปาริฉัตตกะนี้ ท่านเรียกว่า ปาริฉัตตกะ. บทว่า จงฺกมเน
โอกิรนฺติ ความว่า ย่อมโปรยลง ณ ที่รัตนจงกรมนั้น บูชาพระผู้มีพระ-

ภาคเจ้า ซึ่งกำลังเสด็จจงกรม ณ ที่จงกรมนั้น ด้วยดอกไม้ดังกล่าวนั้น. บทว่า
สพฺเพ เทวา ได้แก่ เทวดาทั้งหลาย มีเทวดาที่เป็นกามาวจรเป็นต้น. ด้วย
เหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปสฺสนฺติ ตํ เทวสงฺฆา หมู่เทพทั้งหลายก็พากัน
ชมพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น. อธิบายว่า หมู่เทพพากันชมพระผู้มีพระ-
ภาคเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเสด็จจงกรม ณ รัตนจงกรม แม้ในสุราลัยทั้งหลายของ
ตนเอง. บทว่า ทสสหสฺสี เป็นปฐมาวิภัตติ ลงในอรรถสัตตมีวิภัตติ.
อธิบายว่า หมู่เทพในหมื่นโลกธาตุ ชมพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น. บทว่า
ปโมทิตา แปลว่า บันเทิงแล้ว . บทว่า นิปตนฺติ ได้แก่ ประชุมกัน.
บทว่า ตุฏฺฐหฏฺฐา ได้แก่ ยินดีร่าเริง .ด้วยอำนาจปีติ พึงเห็นการเชื่อม
ความ บทว่า ปโมทิตา ว่า บันเทิงกับเทวดาทั้งหลาย มีเทวดาชั้นดาว-
ดึงส์เป็นต้น ที่พึงกล่าว ณ บัดนี้. การเชื่อมความนอกจากนี้ ก็ไม่พ้นโทษคือ
การกล่าวซ้ำ. อีกอย่างหนึ่ง ความว่า เทวดาทั้งหลายบันเทิงแล้ว ชมพระผู้-
มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ยินดีร่าเริงบันเทิงใจแล้ว ก็พากันประชุม ณ ที่
นั้น ๆ.
บัดนี้ เพื่อแสดงถึงเหล่าเทพที่ชมที่ประชุมกันโดยสรุป ท่านพระสังคี-
ติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
เหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ เทวดาชั้นยามา เทวดา
ชั้นดุสิต เทวดาชั้นนิมมานรดี เทวดาชั้นปรนิมมิต-
วสวัตดี มีจิตโสมนัสมีใจดีพากันชมพระผู้นำโลก.
เหล่านาค สุบรรณและเหล่ากินนรพร้อมทั้งเทพ
คนธรรพ์มนุษย์และรากษส พากันชมพระผู้มีพระภาค-
เจ้า ผู้ทรงเกื้อกูลและอนุเคราะห์โลกพระองค์นั้น
เหมือนชมดวงจันทร์ซึ่งโคจร ณ ท้องนภากาศฉะนั้น.

เหล่าเทวดาชั้นอาภัสสระ ชั้นสุภกิณหะ ชั้น
เวหัปผลา และชั้นอกนิฏฐะ ทรงครองผ้าขาวสะอาด
พากันยืนประคองอัญชลี.
พากันโปรย ดอกมณฑารพ 5 สี ประสมกับ
จุรณจันทน์ โบกผ้าทั้งหลาย ณ ภาคพื้นอัมพรในครั้ง
นั้น อุทานว่า โอ ! พระชินเจ้า ผู้เกื้อกูลและอนุเคราะห์
โลก.

แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุทคฺคจิตฺตา ได้แก่ ผู้มีจิตเบิกบานด้วย
อำนาจปีติโสมนัส. บทว่า สุมนา ได้แก่ ผู้มีใจดี เพราะเป็นผู้มีจิตเบิกบาน.
บทว่า โลกหิตานุกมฺปกํ ได้แก่ ผู้เกื้อกูลโลก และผู้อนุเคราะห์โลก หรือ
ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูลแก่โลก ชื่อว่าโลกหิตานุกัมปกะ. บทว่า นเภว
อจฺจุคฺคตจนฺทมณฺฑลํ
ความว่า พากันชมพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รุ่งโรจน์
ด้วยพุทธสิริ ที่ทำความชื่นมื่นแก่ดวงตา เหมือนชมดวงจันทร์ในฤดูสารทที่
พ้นจากอุปัทวะทั้งปวง เต็มดวง ซึ่งอุทัยใหม่ ๆ ในอากาศนี้.
บทว่า อาภสฺสรา ท่านกล่าวโดยกำหนดภูมิที่สูงสุด. เทพชั้น
ปริตตาภา อัปปมาณาภาแล ะอาภัสสระ ที่บังเกิดด้วยทุติยฌาน อันต่างโดย
กำลังน้อย ปานกลางและประณีต พึงทราบว่าท่านถือเอาหมด. บทว่า สุภกิณฺหา
ท่านก็กล่าวไว้โดยกำหนดภูมิที่สูงสุดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เทพชั้น
ปริตตสุภา ชั้นอัปปมาณสุภา และชั้นสุภกิณหะ ที่บังเกิดด้วยตติยฌาน อัน
ต่างโดยกำลังน้อยเป็นต้น ก็พึงทราบว่าท่านถือเอาหมดเหมือนกัน. บทว่า
เวหปฺผลา ได้แก่ ชื่อว่าเวหัปผลา เพราะมีผลไพบูลย์. เทพชั้นเวหัปผลา

เหล่านั้น อยู่ชั้นเดียวกับเทพที่เป็นอสัญญสัตว์ทั้งหลายเพราะเกิดด้วยจตุตถฌาน.
แต่เทพที่นับเนื่องในหมู่พรหมเป็นต้นซึ่งบังเกิดด้วยปฐมฌานท่านแสดงไว้ใน
ภูมิเบื้องต่ำ เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่แสดงไว้ในที่นี้. อสัญญสัตว์ และอรูปีสัตว์
ท่านมิได้ยกขึ้นแสดงในที่นี้ เพราะไม่มีจักษุและโสตะ. บทว่า อกนิฏฺฐา จ
เทวตา
ท่านกล่าวไว้แม้ในที่นี้ก็โดยกำหนดภูมิสูงสุดเหมือนกัน. เพราะ
ฉะนั้นเทพชั้นสุทธาวาสทั้ง 5 คืออวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสีและอกนิฏฐะ
พึงทราบว่า ท่านก็ถือเอาด้วย. บทว่า สุสุทฺธสุกฺกวตฺถวสนา ความว่า
ผ้าทั้งหลายอันสะอาดด้วยดี คือหมดจดดีอันขาว คือผ่องแผ้ว ผ้าอันขาว
สะอาดดี อันเทพเหล่าใดนุ่งและห่มแล้ว เทพเหล่านั้น ชื่อว่าผู้นุ่งห่มผ้าขาว
อันสะอาดดี อธิบายว่าผู้ครองผ้าขาวบริสุทธิ์ ปาฐะว่า สุสุทฺธสุกฺกวสนา
ดังนี้ก็มี. บทว่า ปญฺชลีกตา ความว่า ยืนประคองอัญชลี คือทำอัญชลีเสมือน
ดอกบัวตูมไว้เหนือเศียร.
บทว่า มุญฺจนฺติ ได้แก่ โปรย. บทว่า ปุปฺผํ ปน ได้แก่ ก็ดอกไม้ ปาฐะ
ว่า ปุปฺผานิ วา ดังนี้ก็มี พึงเห็นว่าเป็นวจนะวิปลาสะ แต่ใจความของคำนั้นก็
อย่างนั้นเหมือนกัน . บทว่า ปญฺจวณฺณิกํ แปลว่า มีวรรณะ 5. วรรณะ 5 คือ
สีเขียว เหลือง แดง ขาว และแดงเข้ม. บทว่า จนฺทนจุณฺณมิสฺสิตํ แปลว่า
ประสมด้วยจุรณจันทน์. บทว่า ภเมนฺติ เจลานิ แปลว่า โบกผ้าทั้งหลาย.
บทว่า อโห ชิโน โลกหิตานุกมฺปฺโต ได้แก่ เปล่งคำสดุดีเป็นต้นอย่างนี้ว่า
โอ ! พระชินเจ้าผู้เกื้อกูลโลก โอ ! พระผู้เกื้อกูลอนุเคราะห์โลก โอ ! พระผู้มี
กรุณา. เชื่อมความว่าโปรยดอกไม้ โบกผ้าทั้งหลาย.
บัดนี้ เพื่อจะแสดงคำสดุดีที่เทพเหล่านั้นประกอบแล้ว พระสังคีติกา-
จารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

พระองค์เป็นศาสดา เป็นที่ยำเกรง เป็นธง เป็น
หลัก เป็นที่พำนัก เป็นที่พึ่ง เป็นประทีปของสัตว์มี
ชีวิตทั้งหลาย เป็นผู้สูงสุดในสัตว์สองเท้า.
เทวดาทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุผู้มีฤทธิ์ ผู้ยินดี
ร่าเริงบันเทิงใจ ห้อมล้อมนมัสการ.
เทพบุตรและเทพธิดา ผู้เลื่อมใส ยินดีร่าเริง
พากันบูชาพระนราสภ ด้วยดอกไม้ 5 สี.
หมู่เทพเลื่อมใสยินดีร่าเริงชมพระองค์พากันบูชา
พระนราสภ ด้วยดอกไม้ 5 สี.
โอ ! น่าปรบมือในโลก น่าประหลาด น่าขนชูชัน
อัศจรรย์ ขนลุก ขนชันเช่นนี้ เราไม่เคยพบ.
เทวดาเหล่านั้นนั่งอยู่ในภพของตน ๆ เห็นความ
อัศจรรย์ในนภากาศ ก็พากันหัวเราะด้วยเสียงดัง.
อากาศเทวดา ภุมมเทวดาและเทวดาผู้ประจำ
ยอดหญ้า และทางเปลี่ยว ก็ยินดีร่าเริงบันเทิงใจ
ประคองอัญชลีนมัสการ.
พวกนาคที่มีอายุยืน มีบุญ มีฤทธิ์ บันเทิงใจแล้ว
ก็พากันนมัสการบูชาพระนราสภ.
เพราะเห็นความอัศจรรย์ในนภากาศ เครื่องสังคีต
ดีดสีทั้งหลายก็บรรเลง เครื่องดนตรีหุ้มหนังก็ประโคม
ในอัมพรภาคพโยมหน.

เพราะเห็นความอัศจรรย์ในนภากาศ สังข์
บัณเฑาะว์และกลองน้อย ๆ เป็นอันมากก็พากันบรรเลง
ในท้องฟ้า.
ในวันนี้ ความที่ขนชูชัน น่าอัศจรรย์เกิดขึ้น
แล้วหนอ เราจักได้ความสำเร็จ ประโยชน์แน่แท้ เรา
ได้ขณะกันแล้ว.
เพราะได้ยินว่า พุทฺโธ เทพเหล่านั้นก็เกิดปีติใน
ทันใด พากันยืนประคองอัญชลี กล่าวว่า พุทฺโธ
พุทฺโธ.
หมู่เทพต่างๆ ในท้องฟ้า พากันประคองอัญชลี
เปล่งเสียง หึ หึ เปล่งเสียงสาธุ โห่ร้องเอิกอึงลิงโลด
ใจ.
เทพทั้งหลาย พากันขับกล่อมประสานเสียง
บรรเลง ปรบมือ และฟ้อนรำ โปรยดอกมณฑารพ
5 สี ประสมกับจุรณจันทน์.
ข้าแต่พระมหาวีระ ด้วยประการไรเล่า ลักษณะ
จักร ที่พระบาททั้งสองของพระองค์ จึงประดับด้วย
ธง วชิระ ประฏาก เครื่องแต่งพระองค์ ขอช้าง.


แก้อรรถ


ในคาถานั้น ที่ชื่อว่าสตฺถาพระศาสดา เพราะทรงสอนประโยชน์
เกื้อกูลในโลกนี้และโลกหน้า. บทว่า เกตุ ได้แก่ ชื่อว่าเกตุ เพราะทรงเป็น
เหมือนธง เพราะอรรถว่า ธงพึงเป็นของที่พึงยำเกรง. บทว่า ธโช ได้แก่